เทศกาลปี๋ใหม่เมืองหม้อดอกกับ ชุมชนบ้านเหมืองกุง จังหวัดเชียงใหม่

เทศกาลปี๋ใหม่เมืองหม้อดอกกับ ชุมชนบ้านเหมืองกุง จังหวัดเชียงใหม่

หม้อดอกคืออะไร?
       “หม้อดอก” เป็นภาษาพื้นเมือง มาจากสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ซึ่งจะมีลักษณะเป็นรูปหม้อน้ำทรงต่่างๆ และปากหม้อมีเถาไม้เลื้อยออกมาทั้งสองข้าง ซึ่งมีลักษณะตรงกับคำว่า ปูรณฆฏะ (Purana Kalasa) จึงมีชื่อเรียกว่า “หม้อดอก หรือ “หม้อปูรณฆฏะ”  ในภาษาสันสกฤต หมายถึง หม้อน้ำแห่งความอุดมสมบูรณ์และความเจริญงอกงาม

ในล้านนาหม้อดอกเป็นพุทธสัญลักษณ์สำคัญแห่งล้านนา โดยถูกนำมาใช้ในทางพุทธศาสนา เพื่อเป็นเครื่องบูชา สักการะ พระรัตนตรัย โดยจะปรากฏหม้อดอกในสถาปัตยกรรมศาสนสถาน ตามจิตกรรมฝาผนัง  ในวิหารต่าง ๆ ในล้านนาสืบมา 

 

        ในอดีตหม้อดอกกับเทศกาลปีใหม่เมือง คนล้านนาจะเปลี่ยนหม้อดอกในวันสังขานต์ล่อง ในหม้อจะใส่ทรายและน้ำ ก่อนนำใบหมากผู้หมากเมีย ดอกเอื้องผึ้งมาปักในหม้อดอก และประดับด้วยช่อตุงสีต่าง ๆ ถือเป็นหนึ่งกิจกรรมที่ในอดีตคงกระทำกันทุกบ้านหลังคาเรือนเพื่อสักการะ เพื่อเป็นการบอกกล่าวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ถึงการเข้าสู่ ปีใหม่เมืองอีกครั้ง ซึ่งในจารีตดังกล่าวแทบจะสูญหายไปแล้วในสังคมคนรุ่นใหม่

ชุมชนบ้านเหมืองกุง ผู้เริ่มต้นในการรื้อฟื้นวัฒนธรรมการใช้หม้อดอกที่สูญหายให้กลับคืนมามีบทบาทและความสำคัญในช่วงปี๋ใหม่เมืองอีกครั้ง 

ในปี๋ใหม่เมืองปีนี้ ชุมชนบ้านเหมืองกุง ได้เป็นผู้ออกแบบรังสรรค์หม้อดอกด้วยลวดลายพญานาค 9 ลาย จำนวน 18 ใบ ในการประกอบพิธีอัญเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 9 แหล่ง เพื่อนำมาสรงน้ำพระธาตุและพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี

การรังสรรค์หม้อดอกด้วยลวดลายพญานาค ได้แรงบันดาลใจจากปีนักษัตร ผนวกกับลวดลายพญานาคตามสถาปัตยกรรม งานสิ่งทอ ของชาวล้านนา เนื่องจากปีนี้ตรงกับปีมะโรง ชาวจีนเรียกว่า ปีมังกรทอง แต่ในล้านนาจะใช้พญานาค ที่เชื่อว่าเป็นสัตว์วิเศษ บันดาลน้ำฝน   ทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์เป็นการสืบสานประเพณีอันดีงามผนวกกับการอนุรักษ์ศิลปกรรมท้องถิ่นเชียงใหม่ 

 

ข้อมูลชุมชนบ้านเหมืองกุง : https://thai.tourismthailand.org/Articles/baan-muang-kung-handicraft-pottery-village